วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2551

การปกครองในระบอบประชาธิปไตย


ความหมายของระบบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย มีดังนี้
1. ระบบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย หมายถึง การปกครองที่ถือว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ
2. ประชาธิปไตยในความหมายอย่างแคบ หมายถึง การที่ประชาชนมีอำนาจในการปกครองตนเอง
3. ประชาธิปไตยในความหมายอย่างกว้าง หมายถึง วิถีชีวิตที่แสดงถึงวัฒนาธรรมอันประกอบด้วยอุดมการณ์ และพฤติกรรมที่มีหลักการทางประชาธิปไตยเป็นแบบแผนในการดำเนินชีวิตประจำวัน
4. การเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย หมายถึง ประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชนโดยประชาชนและเพื่อประชาชน บุคคลที่ให้ความหมายนี้คือ อับราฮัม ลินคอล์น
ประเภทของประชาธิปไตย แยกออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. ประชาธิปไตยโดยตรง หมายถึง การปกครองที่ให้ประชาชนทุกคนในประเทศมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น หรือพิจารณาอภิปรายร่วมกันหรือพิจารณาปัญหาอภิปรายร่วมกันในที่ประชุมโดยตรง
2. ประชาธิปไตยโดยอ้อม หมายถึง ประชาธิปไตยที่ประชาชนในประเทศเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาตัดสินปัญหาใดๆของประเทศ
รูปแบบของประชาธิปไตย แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะดังนี้
1.1) ใช้หลักประมุขเป็นเกณฑ์การแบ่ง รูปแบบประชาธิปไตย มี 2 รูปแบบคือ

1. พระมหากษัตริย์เป็นประมุข หมายถึงประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐพระมหากษัตริย์ทรงเป็นกลางทางการเมือง และทรงใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของปวงชน ได้แก่ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาลตามลำดับ
2. ประธานาธิบดีเป็นประมุข มี 2 ประการ คือ ประการแรก ผู้เป็นประธานาธิบดีได้รับเลือกจากประชาชนทำหน้าที่ประมุขของรัฐแต่ไม่ได้เป็นประมุขฝ่ายบริหาร ประการที่สอง ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งเป็นประมุขของรัฐและเป็นประมุขฝ่ายบริหารด้วย
1.2) ใช้หลักโครงสร้างของฝ่ายบริหารและความสัมพันธ์กับฝ่ายนิติบัญญัติเป็นเกณฑ์ แบ่งเป็น 3 ระบบ คือ
1. ระบบประธานาธิบดี เป็นการปกครองที่ประกอบด้วยสามสถาบันหลัก คือ สถาบันนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ แต่ละสถาบันมีอำนาจขอบเขตของตนเองตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ สถาบันผู้ใช้อำนาจทั้งสามฝ่ายจะเป็นตัวที่คอยถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน
2. ระบบรัฐสภา เป็นการปกครองที่ประกอบด้วยสามสถาบัน คือ สถาบันนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ สถาบันนิติบัญญัติ ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งและวุฒิสภา ส่วนศาลหรือฝ่ายตุลาการจะทำหน้าที่โดยอิสระประเทศที่เป็นแม่แบบของการปกครองแบบรัฐสภาเช่นนี้ คืออังกฤษ
3. ระบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภาเป็นการปกครองที่ประกอบด้วย สามสถาบัน คือ สถาบันนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ เป็นการระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ประกอบด้วยประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐและประมุขฝ่ายบริหาร บริหารประเทศร่วมกับนายกรัฐมนตรี รัฐสภามีอำนาจหน้าที่ในการออกกฎหมาย ควบคุมการทำงานของฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต้องบริหารงานโดยรับผิดชอบต่อสภา ประธานาธิบดีเป็นผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศโดยทั่วไป และมีอำนาจยุบสภาได้
2) ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของรัฐ โดยวิธีการเลือกผู้แทนราษฎรเข้าทำหน้าที่แทนปวงชนในการกำหนดนโยบาย ออกกฎหมาย เพื่อให้รัฐบาลนำไปบริหารการปกครอง โดยถือกฎหมายเป็นกลไกสำคัญที่รัฐใช้ในการบริหารประเทศ เพื่อความถูกต้อง ยุติธรรม รัฐมีหน้าที่กำหนดนโยบายการบริหาร ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อความสงบสุขของสังคมโดยกระทรวงต่างๆ รับนโยบายไปปฏิบัติในการรับใช้ประชาชน
3) ข้อดีข้อเสียของระบอบประชาธิปไตย
ข้อดีของประชาธิปไตย

1. เปิดโอกาสให้ประชาชนข้างมากได้ดำเนินการปกครองโดยประชาชนข้างน้อยมีสิทธิคัดค้านการปกครองของฝ่ายข้างมาก
2. เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพได้อย่างเสมอภาคกัน
3. ถือกฎหมายเป็นมาตรฐานในการดำเนินการปกครองโดยใช้กฎหมายบังคับแก่ทุกคนไม่ว่าคนมั่งมีหรือยากจน
4. ช่วยระงับความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชนและระหว่างประชาชนด้วยกันเองโดยสันติวิธี โดยมีศาลเป็นผู้พิพากษาคดีต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมายช่วยให้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ โดยมีกฎหมายเป็นกรอบความประพฤติทุกคน

ข้อเสียของประชาธิปไตย

1. มีความล่าช้าในการตัดสินใจทำการต่างๆต้องมีการปรึกษาและผ่านขั้นตอนมากเช่น ต้องแก้ไขปรับปรุงจึงจะบังคับใช้เป็นกฎหมาย
2. ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการปกครองมากเช่น การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา หรือเลือกตั้งประธานาธิบดีแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก
3. อาจนำไปสู่ความสับสนวุ่นวายได้ ถ้าประชาชนส่วนมากในประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยไม่รู้จักใช้สิทธิเสรีภาพให้อยู่ภายในกรอบของกฎหมายอาจทำให้ประเทศเจริญช้าลง

ไม่มีความคิดเห็น: